Home » สาระความรู้ทั่วไป » แบตเตอรี่รถยนต์ ตอนที่1
  • แบตเตอรี่รถยนต์ ตอนที่1

    รวมทุกเรื่องราวของ แบตเตอรี่รถยนต์ทำหน้าที่อะไร ดูแลรักษายังไง สังเกตอาการอย่างไร ถ้าไฟแบตโชว์ ตอนที่ 1

    แบตเตอรี่รถยนต์
    แบตเตอรี่รถยนต์แบบแห้ง

      แบตเตอรี่รถยนต์ เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญต่อระบบกระแสไฟฟ้ารถยนต์ หากคุณเคยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ หน้าที่ของแบตเตอรี่,การทำงานแบตเตอรี่,ส่วนประกอบแบตเตอรี่,การดูแลรักษาแบตเตอรี่,อาการแบตเตอรี่เสื่อม,วิธีแก้แบตเตอรี่เสื่อม,อาการแบตเตอรี่หมด,วิธีแก้แบตเตอรี่หมด,สาเหตุไฟเตือนรูปแบตเตอรี่ คำตอบทั้งหมดอยู่ในบทความนี้แล้วครับ

    หน้าที่ของ แบตเตอรี่รถยนต์

      แบตเตอรี่รถยนต์หรือแหล่งเก็บไฟฟ้าสำรอง ทำหน้าที่คอยจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับ ไดสตาร์ท และ ระบบจุดระเบิด เพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานและ หน้าที่ของแบตเตอรี่รถยนต์ ยังคอยจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับรถยนต์อีกด้วย สามารถดูเรื่องราวเพิ่มเติมของ ระบบจุดระเบิด เพิ่มเติมได้นะครับ

    การทำงานของ แบตเตอรี่รถยนต์

      หลายท่านอาจจะเข้าใจ การทำงานของแบตเตอรี่รถยนต์ ผิดไป เพราะแบตเตอรี่นั้นเป็นเพียงแค่ที่เก็บไฟฟ้าสำรองเท่านั้น และไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยตัวของมันเองได้ แต่จะอาศัยการทำงานของไดชาร์จ ซึ่งรถที่ติดเครื่องเสียงชุดใหญ่ และการใช้รถยนต์ในเวลากลางคืนที่ต้องใช้ไฟมากกว่าปกติ หากไดชาร์จนั้นไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทัน ก็จะดึงกระแสไฟฟ้ามาจากแบตเตอรี่อีกที ในขณะเดียวกันหากติดเครื่องยนต์แล้ว ไดชาร์จทำงานได้เป็นปกติ แล้วไม่ได้ใช้กระแสไฟฟ้าอะไรมาก ไดชาร์จจำทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเข้าแบตเตอรี่ให้เต็มเหมือนเดิมนั้นเอง นั่นแสดงว่าถ้าหากไม่ได้ติดเครื่องยนต์เอาไว้ ไม่มีการทำงานของไดชาร์จ แล้วเผลอเปิดไฟทิ้งไว้ หรือนั่งฟังเพลงบนรถนานๆโดยที่ไม่ได้ติดเครื่องยนต์ กระแสไฟจากในแบตเตอรี่ก็จะค่อยๆหมดไป หรือที่เรียกกันว่า “แบตหมด”

    ส่วนประกอบแบตเตอรี่รถยนต์

    ขั้วแบตเตอรี่ จะมีสองขั้วคือขั้วบวกและขั้วลบ มีลักษณะเป็นแท่งตะกั่วกลมๆ

    เปลือกของแบตเตอรี่ จะมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม

    แผ่นธาตุ โดยจะประกอบไปด้วย แผ่นธาตุบวกและแผ่นธาตุลบ โดยจะเรียงสลับกันไปมาซ้อนกันจนเต็ม โดยระหว่างช่องนั้นจะมีแผ่นกั้นอีกที

    แผ่นกั้น ทำหน้าที่ไม่ให้แผ่นธาตุบวกและแผ่นธาตุลบสัมผัสโดนกัน โดยแผ่นกั้นนั้นทำมาจากยางชนิดแข็ง แผ่นกั้นมีการเจาะรูทั่วแผ่นเพื่อให้น้ำกรดไหลเวียนไปมาได้ระหว่างแผ่นธาตุ โดนขนาดจะเท่ากับแผ่นธาตุ

    น้ำกรด ในแบตเตอรี่ทำหน้าที่ให้แผ่นธาตุบวกและแผ่นธาตุลบเกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น

    เซลล์ จะแบ่งเป็นช่องๆ ซึ่งแบตเตอรี่12V นั้น จะมีทั้งหมด 6 เซลล์ หรือ 6ช่อง โดยในช่องนั้นก็จะมีแผ่นธาตุบวกและแผ่นธาตุลบ โดยส่วนบนนั้นจะเป็นช่องสำหรับไว้เติมน้ำกรดหรือน้ำกลั่น ซึ่งจะมีจุกปิดอีกที

    ฝาปิดเซลล์ หรือจุกปิดช่องเติมน้ำกลด ทำหน้าที่ไม่ไห้น้ำกรดกระเด็นออกมาและด้านบนของจุกปิดนั้นจะมีรูเล็กๆอยู่ ซึ่งทำหน้าที่ระบายก๊าซไฮโดรเจน

    การดูแลรักษาแบตเตอรี่รถยนต์

    1.ควรตรวจเช็คแบตเตอรี่เป็นประจำหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ เดือนละ 1 ครั้ง ก็จะสามารถยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ได้เป็นอย่างดี ควรดูโดยรอบของแบตเตอรี่ว่าไม่มีการบวม หรือรอยแตกร้าว เสียรูป ที่เกิดจากความร้อน

    2.สังเกตทั้งขั้วบวกและขั้วลบของแบตเตอรี่ว่ายังแน่นอยู่หรือเปล่า และต้องไม่มีคราบขี้เกลือเกาะตามขั้วอยู่ หากเจอคราบขี้เกลือเกาะอยู่ วิธีแก้ คือนำน้ำอุ่นและแปรงค่อยๆชะล้างออกให้หมดจากนั้นนำผ้ามาซับน้ำให้แห้ง แล้วนำวาสลีนหรือจารบีป้ายตามขั้วบางๆ

     3.ระดับน้ำกลั่น ส่วนมากที่ต้องสังเกตระดับน้ำกลั่นคือแบตเตอรี่ประเภทน้ำ หากมีการพร่องลงไปควรหาน้ำกลั่นมาเติมให้อยู่ขีดบน และไม่ควรเติมจนล้นเกินไปเพราะจะทำให้น้ำกรดที่อยู่ภายในแบตเตอรี่เดือดล้นออกมาจนทำให้อุปกรณ์หรือตัวถังรถยนต์เสียหายได้ หลังจากเติมเสร็จอย่าลืมปิดจุกให้แน่นทุกช่องนะครับ

     4.ถ้ารถคุณไม่ค่อยได้ใช้งานไม่มีการหมุนเวียนของกระแสไฟฟ้าระหว่างแบตเตอรี่และไดชาร์จเป็นเวลานาน อาจจะทำให้แบตเตอรี่ของคุณเสื่อมสภาพและสตาร์ทไม่ติดก็ได้ เพราะฉะนั้นหากไม่ได้ใช้รถเป็นเวลานาน ควรสตาร์ทเครื่องยนต์อย่างน้อย 2-3 วันครั้ง วอร์มเครื่องยนต์ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที

    อาการแบตเตอรี่รถยนต์เสื่อม

    -สตาร์ทเครื่องยนต์ติดยากหรือไม่ติดโดยเฉพาะตอนเช้าๆ

    -ระบบไฟหน้าหรือระบบไฟภายในห้องโดยสารไม่สว่างเหมือนเดิม

    -กระจกไฟฟ้าไม่มีแรงขึ้นหรือไม่ขึ้นเลย

    -แผ่นธาตุภายในแบตเตอรี่เกิดการเสื่อมและบวม

    วิธีแก้ไขแบตเตอรี่เสื่อม

     เปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ทันที เพราะอาการเสื่อมของแบตเตอรี่คือไม่สามารถเก็บกระแสไฟฟ้าได้แล้ว เมื่อรถสตาร์ทไม่ติด ให้หาแบตเตอรี่ลูกที่ใหญ่กว่า หรือแอมป์ที่มากกว่า มาทำการจัมป์ และเมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ติดแล้ว ไม่ควรดับเครื่องยนต์อีก ควรรีบหาร้านแบตเตอรี่เปลี่ยนใหม่ทันที

    อาการแบตเตอรี่รถยนต์หมด

    -ระบบเซ็นทรัลล็อคไม่ทำงาน แตรรถไม่ดัง

    -ระบบไฟส่องสว่างไม่ติด

    -สตาร์ทเครื่องยนต์ไม่ได้

    วิธีแก้ไขเแบตเตอรี่หมด

     เมื่อรถสตาร์ทไม่ติด ให้หาแบตเตอรี่ลูกที่ใหญ่กว่า หรือแอมป์ที่มากกว่า มาทำการจั๊มหรือพ่วงแบตเตอรี่ หลักจากนั้นสตาร์ทรถเพื่อให้ไดชาร์จทำงานเพื่อจะได้ผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่จนเต็ม

    สาเหตุไฟเตือนรูปแบตเตอรี่

      แน่นอนครับถ้ามีไฟเตือนรูปแบตเตอรี่ขึ้นโชว์ที่หน้าปัทม์แสดงว่ากระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่หมด สำหรับหลายๆท่านคงจะรีบหาแบตเตอรี่ลูกใหม่มาเปลี่ยนจริงมั้ยครับ แต่เป็นความคิดที่ผิดนะครับ เพราะสาเหตุที่แท้จริงแล้วเวลามีไฟแจ้งเตือนขึ้นมา แสดงว่าไม่มีกระแสไฟฟ้าหมุนเวียนกลับเข้าไปที่แบตเตอรี่เลย สาเหตุเกิดจาก

    1.ไดชาร์จทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือเสียหายเนื่องจากแปรงถ่านหมด ขดลวดไหม้ หรือมีอุปกรณ์บางตัวชำรุดเสียหาย

    2.สายพานไดชาร์จเกิดขาด หรือหย่อนมากเกินไปจนทำไดชาร์จทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

    3.สายไฟและฟิวส์ บางจุดขาด ทำให้ระบบไฟมีปัญหา

    ข้อควรระวัง

      ในกรณีที่มีไฟแจ้งเตือนรูปแบตเตอรี่แสดงค้างขึ้นมา ถ้าเกิดจากไดชาร์จเสีย หรือไม่ทำงาน แสดงว่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลกลับเข้าไปยังแบตเตอรี่ จะมีอาการเช่น ไฟส่องสว่างจะค่อยๆสว่างน้อยลง แอร์เริ่มไม่ค่อยเย็น ทางที่ดีควรหยุดใช้กระแสไฟฟ้าทั้งหมดภายในรถ และปิดแอร์เปิดกระจก เพื่อที่จะสามารถขับต่อไปได้อีกระยะสั้นๆเพื่อหาอู่ซ่อมหรือศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็คต่อไป

    ข้อแนะนำ

      ในกรณีที่ไฟเตือนรูปแบตเตอรี่ขึ้นแสดงมาชั่วครู่หรือกระพริบ แล้วก็ดับไปอาจจะมาจากการที่เราใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ใช้กระแสไฟฟ้ามากเกินไป เช่น เครื่องเสียง ชาร์จแบตโทรศัพท์ เปิดไฟภายในรถค้างไว้ ทำสิ่งเหล่านี้พร้อมกันและเป็นเวลานาน วิธีแก้คือลดการใช้กระแสไฟที่ไม่จำเป็นสักพัก ก็จะไม่มีไฟเตือนขึ้นมาอีก แต่ถ้าหากทำแล้วไม่หายควรให้ช่างตรวจดูไดชาร์จโดยด่วน

       ต้องการดูเรื่องราวแบตเตอรี่รถยนต์เพิ่มเติมเกี่ยวกับ อุปกรณ์เปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์,ขั้นตอนการเปลี่ยนแบตรถยนต์,วิธีถอดขั้วแบตเตอรี่รถยนต์,วิธีจั๊มแบตเตอรี่รถยนต์,ชนิดของแบตเตอรี่,ข้อแตกต่างและอายุการใช้งาน สามารถติดตาม เรื่องราวของแบตเตอรี่รถยนต์ ตอนที่ 2 ต่อได้นะครับ

    ป้ายกำกับ:, , , , , , , , ,