Home » สาระความรู้ทั่วไป » หม้อน้ำรถยนต์
  • หม้อน้ำรถยนต์

     วิธีตรวจสอบ หม้อน้ำรถยนต์ และครีบรังผึ้งหม้อน้ำจะไม่ยุ่งยากอีกต่อไป เมื่อคุณรู้จักมากขึ้นว่าคืออะไร มีกี่แบบ การดูแลรักษาอย่างไร รู้ถึงวิธีสังเกตอาการผิดปกติต่างๆและวิธีแก้ไข

    หม้อน้ำรถยนต์ (Radiator)
    หม้อน้ำรถยนต์ (Radiator)

     

     หม้อน้ำรถยนต์คืออะไรมีหน้าที่และการทำงานอย่างไร มีกี่แบบและในขณะที่”หม้อน้ำรถยนต์” มีปัญหาหรือมีอาการผิดปกติเรื่องความร้อนจน (Over heat) ไฟแจ้งเตือนความร้อนจะเตือนขึ้นมาทันที เรามาดูกันว่าวิธีดูหม้อน้ำรถยนต์ดูอย่างไรสังเกตจากอะไรบ้างอาการเป็นแบบไหนและควรแก้ไขอย่างไร ? รวมถึงการดูแลรักษาหม้อน้ำรถยนต์และครีบรังผึ้งหม้อน้ำให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ขับรถยนต์ได้อย่างสบายใจไม่ดับกลางทาง

    หน้าที่และการทำงานหม้อน้ำรถยนต์

      หม้อน้ำรถยนต์คือ อุปกรณ์หลักที่ทำหน้าที่ระบายความร้อนหรือหล่อเย็นให้กับเครื่องยนต์เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงจนเกินไป และทำให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

      หลักการทำงานหม้อน้ำรถยนต์คือ ช่วยนำความร้อนออกจากเครื่องยนต์โดยอาศัยน้ำยาหล่อเย็นและพัดลมหม้อน้ำที่ทำหน้าที่ดูดอากาศจากด้านหน้าของหม้อน้ำ ผ่านครีบรังผึ้งหม้อน้ำหรือครีบระบายความร้อนที่ทำมาจากโลหะผ่านมายังด้านหลังหรือเรียกระบบนี้ว่าการแลกเปลี่ยนความร้อนด้วยอากาศ จึงทำให้อุณหภูมิน้ำยาหล่อเย็นในหม้อน้ำนั้นเย็นตัวลงแล้วก็หมุนเวียนเข้าสู่เครื่องยนต์

    หม้อน้ำรถยนต์มีอยู่ 3 แบบด้วยกันคือ

    1.หม้อน้ำอลูมิเนียมฝาเป็นพลาสติก

     – ข้อดีคือ มีราคาถูกและส่วนมากค่ายรถยนต์ต่างๆจะติดตั้งมาจากโรงงานเพราะมีน้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี ไม่อมความร้อน ไม่เป็นสนิม

     – ข้อเสียคือ หากเกิดการแตกหรือรั่วซึมตรงรอยต่อระหว่างพลาสติก โดยส่วนมากต้องเปลี่ยนทันทีไม่สามรถซ่อมแซมแก้ไขได้

    2.หม้อน้ำอลูมิเนียมล้วน

     – ข้อดีคือ มีน้ำหนักเบาและผลิตมาจากอลูมิเนียมจึงทำให้ระบายความร้อนได้ไว มีความทนทาน ไม่เป็นสนิม

     – ข้อเสียคือ ถ้าเกิดการรั่วซึมของหม้อน้ำอาจจะซ่อมแซมไม่ได้

    3.หม้อน้ำทองแดง

     – ข้อดีคือ มีความหนาและแข็งแรง หากมีการรั่วซึมสามารถซ่อมแซมได้

     – ข้อเสียคือ ระบายความร้อนได้ช้ากว่าแบบอลูมิเนียม อมความร้อน มีน้ำหนักมากกว่าแบบอลูมิเนียม ราคาค่อนข้างแพงจึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน

    วิธีดูหม้อน้ำรถยนต์

    1.วิธีดูหม้อน้ำรถยนต์รั่ว

     คอยสังเกตหม้อน้ำโดยรอบว่ามีคราบตะกรันหรือคราบน้ำไหลออกมาจากหม้อน้ำหรือไม่ และคอยสังเกตที่พื้นตรงตำแหน่งหม้อน้ำว่ามีคราบน้ำหยดหรือไม่ การตรวจสอบหม้อน้ำรั่วอีกวิธีคือในขณะเครื่องยนต์เย็นเติมน้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำให้เต็มและเติมน้ำกระปุกหม้อพักน้ำให้อยู่ในระดับขีด MAX จากนั้นใช้งานรถยนต์ตามปกติ หรือจอดทิ้งไว้ข้ามคืน แล้วมาสังเกตอีกครั้งว่าระดับน้ำอยู่เท่าเดิมหรือไม่

    อาการหม้อน้ำรถยนต์รั่ว

     น้ำหายและต้องเติมน้ำยาหล่อเย็นบ่อยผิดปกติ มีคราบน้ำหล่อเย็นไหลลงมาที่พื้น มีสถานะไฟแจ้งเตือนความขึ้นโชว์ที่หน้าปัทม์ ไปจนถึงเครื่องยนต์ดับกลางทางและทำให้เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้รถสตาร์ทไม่ติด

    วิธีแก้หม้อน้ำรถยนต์รั่ว

     ตรวจสอบหาจุดรั่วซึมของน้ำยาหล่อเย็น เช่นบริเวณรอบๆหม้อน้ำ ตามท่อยางด้านบนและด้านล่าง ฝาหม้อน้ำ และหางปลาหม้อน้ำว่าขันแน่นหรือไม่ หากเจอจุดรั่วซึมเล็กๆที่หม้อน้ำอาจจะใช้ดินน้ำมันหรือน้ำยาอุดรอยรั่วหม้อน้ำอุดชั่วคราวแล้วหาน้ำเติมหม้อน้ำให้เต็มเพื่อช่วยประคองขับรถหาอู่ซ่อมหรือเปลี่ยนบริเวณไกล้เคียงได้ และหากเมื่อคุณตกอยู่ในสถานการณ์คับขันรถความร้อนขึ้นควรตั้งสติแล้วค่อยๆแก้ไข เรามาดูกันครับกับวิธีปฏิบัติเมื่อรถความร้อนขึ้น

    2.วิธีดูหม้อน้ำรถยนต์ตัน

     เปิดฝาหม้อน้ำดูแล้วน้ำในหม้อน้ำและหม้อพักอาจจะอยู่ในปริมาณที่เท่าเดิมหรือพร่องลงไปเล็กน้อย แต่สีของน้ำนั้นอาจจะเปลี่ยนไปเช่นน้ำเปลี่ยนเป็นสีส้มๆแดงๆ มีคราบตะกอนหรือสิ่งสกปรกไปอุดตันทำให้น้ำในหม้อน้ำไม่สามารถหมุนเวียนในระบบเพื่อระบายความร้อนได้

    อาการหม้อน้ำรถยนต์ตัน

     ในขณะขับขี่มีสถานะไฟแจ้งเตือนความขึ้นโชว์ที่หน้าปัทม์ รถความร้อนขึ้นในขณะที่วิ่งด้วยความเร็ว แอร์รถไม่เย็น หรือมีน้ำยาหล่อเย็นดันออกทางรูระบายของหม้อพักน้ำ

    วิธีแก้หม้อน้ำรถยนต์ตัน

     เปลี่ยนถ่ายน้ำในระบบหล่อเย็นทันทีเมื่อรถยนต์ที่ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลา 5-6 เดือนขึ้นไป เพื่อป้องกันคราบสกปรก คราบตะกรันและคราบสนิม สะสมและอุดตันในหม้อน้ำรถยนต์ หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคราบสนิมหรือคราบตะกรันเราไปดูกันครับ กับวิธีล้างหม้อน้ำรถยนต์ด้วยตัวเองเพียงไม่กี่ขั้นตอนง่ายๆที่ใครๆก็สามารถทำเองได้

    การดูแลรักษาหม้อน้ำรถยนต์

     ส่วนใหญ่แล้วตำแหน่งของหม้อน้ำรถยนต์จะอยู่ด้านหน้าของเครื่องยนต์ และสาเหตุที่คนส่วนใหญ่มักจะใช้น้ำยาหล่อเย็นแทนการใช้น้ำเปล่าเติมหม้อน้ำนั้นคือน้ำยาหล่อเย็นสามารถช่วยป้องกันการเกิดสนิมหรือคราบตะกรันสะสม เมื่อใช้งานไปนานๆจะทำให้หม้อน้ำอุดตันและช่วยเพิ่มจุดเดือดของน้ำได้เป็นอย่างดี และการดูแลรักษาหม้อน้ำรถยนต์และน้ำในหม้อน้ำนั้นควรตรวจเช็คอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้งและควรตรวจสอบอุปกรณ์อื่นๆด้วย เช่น

    1.ท่อยางหม้อน้ำ การตรวจสอบคือยังคงความยืดหยุ่นโดยใช้มือบีบๆ ท่อยางหม้อน้ำไม่ควรแข็งกรอบหรือมีรอยแตก ฉีกขาด เพราะจะทำให้เกิดการรั่วซึมของน้ำได้ และท่อยางหม้อน้ำนั้นต้องอยู่ในสภาพที่ไม่บวม หรือพับงอเพราะจะทำให้น้ำไหลผ่านไม่สะดวก

    2.พัดลมหม้อน้ำ ควรอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ปกติ ใบพัดไม่มีแตกหักเพราะจะทำให้ใบพัดหมุนได้ช้าลงและไม่ได้จุดศูนย์กลาง จะทำให้ระบายความร้อนให้กับหม้อน้ำรถยนต์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

    3.ครีบรังผึ้งหม้อน้ำ ไม่ควรพับงอและมีสิ่งสกปรกต่างๆเช่น แมลง ใบไม้ หรือคราบโคลนต่างๆ มาปิดบังทางลมผ่าน ซึ่งจะทำให้ระบายความร้อนให้หม้อน้ำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

    4.กระปุกหม้อพักน้ำ ควรอยู่ในระดับ MAX เสมอ และไม่ควรเติมจนเต็มหรือเกินขีด MAX เพราะน้ำในระบบที่มีความร้อนและแรงดันจะดันน้ำออกทันที และควรตรวจสอบสภาพของกระปุกหม้อพักน้ำด้วยว่ามีรอยแตกหรือรอยรั่วซึมของน้ำหรือไม่

    การดูแลรักษาครีบรังผึ้งหม้อน้ำ

    1.ควรเป่าสิ่งสกปรกออกจากครีบรังผึ้งหม้อน้ำและไม่ควรใช้น้ำที่มีแรงดันสูงฉีดเข้าหารังผึ้งของหม้อน้ำโดยตรงเพราะจะทำให้แผ่นครีบของหม้อน้ำนั้นล้มหรือพับงอ จนทำให้การระบายความร้อนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

    2.ไม่ควรขับรถลุยน้ำท่วมสูงเพราะสิ่งสกปรกและดินโคลนต่างๆที่อยู่ในน้ำ จะมาเกาะและอุดตันตรงบริเวณครีบรังผึ้งหม้อน้ำ แนะนำว่าเมื่อขับรถลุยน้ำท่วมมาควรจอดรถแล้วสังเกตดูว่ามีหากมีอะไรมาติดบริเวณรังผึ้งควรใช้น้ำฉีดล้างออกทันที และควรเป็นน้ำที่แรงดันไม่สูงมาก

    3.ควรหลีกเลี่ยงการขับรถตามรถหกล้อหรือสิบล้อที่บรรทุกดินทรายและไม่ควรขับผ่านบริเวณถนนที่มีฝุ่นละอองมากๆเช่น ถนนลูกรัง เพราะจะทำให้ฝุ่นละอองจะเข้าไปสะสมหรือเกาะตามครีบรังผึ้งหม้อน้ำ

     การดูแลรักษาและตรวจสอบสภาพของหม้อน้ำรถยนต์เป็นประจำนั้นจะสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์และเครื่องยนต์ให้ได้นานขึ้น หากเราเจออาการผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบแก้ไขทันที เพราะสาเหตุความร้อนขึ้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน อย่าฝืนขับต่อไปเรื่อยๆเพราะอาจจะทำให้เครื่องยนต์ได้รับความเสียหายตามไปด้วย

    CREDIT BY : PP2CAR.COM  รับซื้อรถยนต์

    ป้ายกำกับ:, , , , , , , , , , ,